เข้าสู่ปีใหม่สิ่งสำคัญที่ไม่ควรลืมเลยสำหรับมนุษย์เงินเดือนอย่างเรานั่นคือการยื่นภาษี สำหรับมือใหม่ที่เพิ่งเริ่มยื่น วันนี้ Gelending จะพาทุกคนไปเรียนรู้วิธียื่นภาษีออนไลน์ แบบ Step by step กันเลย
เตรียม 50 ทวิ (หนังสือรับรองการหัก ณ ที่จ่าย) เอกสารค่าลดหย่อน และเอกสารแสดงรายได้อื่นๆ ให้พร้อมการยื่นภาษีปี 64 นี้ยื่นได้ถึงวันที่ 8 เมษายน 64 ซึ่งเป็นการใช้ข้อมูลของปีภาษี 2563 แต่ก่อนจะไปยื่นภาษีมาทำความรู้จักกับแบบภาษีกันก่อนว่าคุณต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประเภทใด
- ภ.ง.ด. 90 สำหรับผู้มีเงินได้ประเภทที่ไม่ใช่เงินเดือน หรือมีเงินได้ 2 ประเภท ขึ้นไป เรียกง่ายๆ ก็คือสำหรับคนที่มีเงินเดือน และมีรายได้อื่นๆ ด้วย
- ภ.ง.ด. 91 สำหรับผู้มีเงินได้ประเภท เงินเดือน อย่างเดียวให้ยื่นแบบเพื่อเสียภาษีเงินได้ของทั้งปี (ครั้งเดียว) ภายในเดือน มี.ค. ของปีถัดไป
ถ้ารู้แล้วว่าต้องยื่นแบบไหน มาดูขั้นตอนสรุปแบบย่อๆ ทำความเข้าใจกันให้พร้อมก่อนไปทำจริงกัน
มีอะไรบ้างในโพสต์นี้
1. เข้าสู่ระบบ
เข้า www.rd.go.th คลิกยื่นภาษีออนไลน์ เพื่อเข้าสู่เว็บไซต์ rdserver.rd.go.th
2. กรอกข้อมูล
หน้าแรกจะพบกับช่องให้กรอก ชื่อ นามสกุล ที่อยู่ซึ่งต้องกรอกตามที่อยู่ในปัจจุบัน เพราะหากมีเอกสารที่ต้องการเพิ่มเติมสรรพากรจะได้แจ้งกลับมาได้
3. เลือกสถานะของผู้มีเงินได้
หน้าถัดไปจะให้เลือกสถานะของผู้มีเงินได้ ซึ่งมีด้วยกัน 3 ชุดข้อมูล นั่นคือสถานะของผู้มีเงินได้ ไม่ว่าจะเป็น โสด สมรส หม้าย หรือเป็นผู้ที่มีเงินได้ประเภทอื่นที่ไม่ใช่บุคคลธรรมดาโดยทั่วไป หลังจากนั้นกรอกข้อมูลคู่สมรส (สำหรับกรณีถ้าต้องกรอกรายละเอียดคู่สมรส) และกรอกรายละเอียดเงินได้ให้ถูกต้อง
4. กรอกข้อมูลที่มาของเงินได้และรายจ่ายเพื่อลดหย่อนภาษี
หน้าถัดเป็นจะเป็นการกรอกข้อมูลแหล่งที่มาของเงินได้ที่มีและค่าลดหย่อนสำหรับปี 2563 ที่ผ่านมา โดยทางฝั่งซ้ายจะเป็นเกี่ยวกับรายได้ทั้ง ซึ่งรายได้ทั้งหมดหลักๆ มี 8 ประเภท
- เงินได้ประเภทที่ 1 หรือมาตรา 40(1) เงินได้จากการจ้างแรงงาน เช่น เงินเดือน โบนัส ต่างๆ
- เงินได้ประเภทที่ 2 หรือมาตรา 40(2) เงินได้เนื่องจากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำ เช่น ค่านายหน้า งานที่รับจ้างตามสัญญาจ้างเป็นครั้งคราว
- เงินได้ประเภทที่ 3 หรือมาตรา 40(3) เงินได้จากค่าแห่งลิขสัทธิ์ ค่าสิทธิอย่างอื่น เงินปี หรืองานได้ที่มีลักษณะเป็นเงินรายปีอันได้มาจากพินัยกรรม นิติกรรมอย่างอื่น หรือคำพิพากษาของศาล
- เงินได้ประเภทที่ 4 หรือมาตรา 40(4) ดอกเบี้ย เงินปันผล เงินส่วนแบ่งกำไรต่างๆ
- เงินได้ประเภทที่ 5 หรือมาตรา 40(5) เงินได้จากการให้เช่าทรัพย์สินต่างๆ
- เงินได้ประเภทที่ 6 หรือมาตรา 40(6) เงินได้จากวิชาชีพอิสระต่างๆ เช่น วิชากฎหมาย การประกอบโรคศิลป วิศวรรม สถาปัตยกรรม การบัญชี ประณีต ศิลปกรรม หรือวิชาชีพอื่นที่กฎหมายกำหนด
- เงินได้ประเภทที่ 7 หรือมาตรา 40(7) เงินได้จากการับเหมาต้องลงทุนด้วยการจัดหาสัมภาระ ในส่วนสำคัญนอกจากเครื่องมือ เช่น การรับเหมาก่อสร้าง
- เงินได้ประเภทที่ 8 หรือมาตรา 40(8) เงินได้จากการธุรกิจ การพาณิชย์ การเกษตร การอุตสาหกรรม การขนส่ง การขายอสังหาริมทรัพย์ หรือเงินได้อื่นๆ ที่ไม่ได้ระบุไว้ใน 7 ประเภท
นอกจากนั้นยังมีรายได้พิเศษที่เกิดขึ้นระหว่างปีให้เลือกตามรายการได้เลย และในส่วนขวานั้นสำหรับเลือกรายละเอียดเพื่อลดหย่อนภาษี ไม่ว่าจะเป็น เงินสะสมกองทุนต่างๆ, ค่าเลี้ยงดูอุปการะบิดามารดา, ประกันชีวิต, ประกันสุขภาพ, RMF, ดอกเบี้ยบ้าน, ค่าธรรมเนียมบัตรเครดิต และอีกมากมายเพื่อนำไปคำนวณในการลดหย่อนภาษี
5. กรอกข้อมูลเงินได้
กรอกข้อมูลเงินได้ตามที่เรามีให้ครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นเงินเดือนทั้งปี, ภาษี ณ ที่จ่าย (ภาษีที่ถูกหักไว้), กรอกข้อมูลเลขประจำตัวผู้เสียภาษี(นายจ้าง)
6. กรอกค่าลดหย่อน
กรอกค่าลดหย่อนแต่ละตัวให้ครบถ้วน (หากใครมีรายการลดหย่อนมากกว่าในภาพก็กรอกให้ครบถ้วนได้เลย)
7. เช็กข้อมูล
กรอกข้อมูลหน้าก่อนหน้าเรียบร้อยแล้ว มาเช็กข้อมูลกันต่อ หากใครมีรายการลดหย่อนภาษีบริจาคให้มากรอกที่หน้านี้ให้ครบถ้วน ระบบจะสรุปให้ว่า มีภาษีที่ต้องจ่ายเพิ่มหรือต้องได้รับคืนไหม และสามารถเลือกว่าจะบริจาคให้นักการเมือง หรือว่าผ่อนชำระภาษี 3 งวด (กรณีมียอดจ่ายเพิ่มตั้งแต่ 3,000 บาทขึ้นไป)
หากคุณต้องการคืนภาษีเร็ว แนะนำว่าต้องเตรียมเอกสารลดหย่อนภาษีให้ครบ และลงทะเบียนรับภาษีคืนผ่าน PromptPay จะได้รับเงินเข้าบัญชีได้ไวขึ้น เพียง 7 ขั้นตอน ก็สามารถยื่นภาษีออนไลน์ได้ด้วยตัวเองแล้ว ย้ำอีกทีว่าปีนี้ยื่นภาษีได้ถึงวันที่ 8 เมษายน 64 ใครที่ยังไม่ยื่น อย่าพลาดนะ!